English | ภาษาไทย
ท่ามกลางบรรยากาศความตึงเครียดจากการกีดกันทางการค้า การต่อต้านโลกาภิวัฒน์ และกระบวนการผลิต ทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากโควิคที่ยืดเยื้อ การร่วมลงนามในข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป (RCEP) เมื่อปลายปีที่แล้ว ได้ช่วยสร้างความเชื่อมั่นในหมู่ประเทศสมาชิก เรื่องการเปิดเสรีทางการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีต่อกัน โดยเฉพาะในเอเชีย เพราะอาร์เซ็ปจะเป็นข้อตกลงทางการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีสัดส่วนครอบคลุม 30% ของจีดีพีโลก และ 27% ของมูลค่าการค้าทั่วโลก
ในระหว่างนี้อยู่ในกระบวนการการให้สัตยาบันของแต่ละประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในกลางปีนี้ ซึ่งเมื่ออาร์เซ็ปมีผลบังคับใช้แล้ว นอกจากผลประโยชน์ทางด้านภาษีนำเข้าที่จะเกิดขึ้นกับประเทศสมาชิก นอกเหนือไปจากข้อตกลงเสรีการค้าแบบทวิภาคีที่มีอยู่ในปัจจุบันแล้ว กระบวนการทางศุลกากรที่รวดเร็วขึ้น และมาตรการช่วยเหลือทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้น จะช่วยให้สินค้าสามารถเดินทางถึงมือผู้บริโภคปลายทางได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการส่งพัสดุแบบด่วน หรือสินค้าที่เน่าเสียง่าย ซึ่งสามารถผ่านกระบวนการศุลการภายใน 6 ชั่วโมง ช่วยประหยัดเวลาและลดค่าใช้จ่ายให้กับทุกฝ่าย โดยเฉพาะธุรกิจที่ส่งออกเคมีภัณฑ์ผลิตภัณฑ์พลาสติก และอาหารแปรรูป ไปยังตลาดประเทศสมาชิกอาร์เซ็ป
พิธีลงนามข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 ภาพ: กุสุมาพันธุ์ดุวิจายะ / สำนักเลขาธิการอาเซียน
เป้าหมายหลักของอาร์เซ็ปคือเพื่อเปิดเสรีภาคการค้า การบริการ กระตุ้นการลงทุนจากต่างประเทศ และเพิ่มความคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาและการดำเนินธุรกิจอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศสมาชิก แน่นอนว่าจะเกิดการไหลของเม็ดเงินลงทุนจากประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกอาร์เซ็ปเข้าสู่ประเทศสมาชิก อีกทั้งส่งผลให้เกิดการแข่งขันแย่งชิงเงินลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกัน
ทางด้านภาคบริการ เราจะเห็นการเข้ามาลงทุนของบริษัทต่างชาติ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการเพิ่มสัดส่วนผู้ถือหุ้นที่เป็นต่างชาติของประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปหลายประเทศ ในภาคธุรกิจโทรคมนาคม การเงิน การบริการด้านคอมพิวเตอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาชีพ และบริการขนส่งโลจิสติก มีแนวโน้มจะเปิดให้ต่างชาติถือหุ้นได้ 51%
ทางด้านซัพพลายเชน อาร์เซ็ปจะเอื้ออำนวยให้ธุรกิจสามารถใช้วัตถุดิบและชิ้นส่วนต่างๆ จาก 14 ประเทศสมาชิก โดยนับว่ามาจากแหล่งเดียวกัน ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจสามารถผ่านกฎระเบียบด้านแหล่งที่มาของวัตถุดิบสำหรับสินค้าส่งออก และบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากความแตกต่างด้านกฎระเบียบข้อบังคับของแต่ละประเทศสมาชิก ยังคงต้องมีการเจรจาหาข้อตกลงร่วมกันในรายละเอียด ในเรื่องความเป็นไปได้ของการใช้ Made in RCEP ทั้งนี้ทั้งนั้น อาจจะเป็นโอกาสให้ประเทศสมาชิกทบทวนเรื่องนโยบายต่างๆ ที่ทำให้สนองต่อข้อเรียกร้องของประเทศคู่ค้าใหม่ หรือคู่ค้าปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น
เปิดประตูเชื่อมต่อจีนและตลาดอาเซียนที่กำลังเติบโต อาร์เซ็ปยังสอดรับยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนาน (Dual Circulation) ยุทธศาสตร์ใหม่ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน ที่ตั้งเป้าขยายเศรษฐกิจจีนให้เติบโตอีกเท่าตัวภายในปี 2578 โดยการสร้างตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ขึ้นภายในจีน ในขณะเดียวกันก็เปิดรับการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น
ในขณะที่ตลาดรีเทลของจีนจะเข้ามาแทนที่สหรัฐอเมริกาภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ธุรกิจมองหาทางที่จะเจาะเข้าตลาดจีนอย่างเร็วและมีประสิทธิภาพที่สุด ในฐานะที่จีนมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก มูลค่าการค้าของจีนที่มีกับประเทศสมากชิกอาร์เซ็ปนั้นค่อนข้างมากมายอยู่แล้ว กลุ่มประเทศสมาชิก RCEP นับเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของจีน โดยคิดเป็นสัดส่วน 32% ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของจีน ซึ่งมากกว่าสัดส่วนของการค้ากับกลุ่มประเทศอาเซียนกว่าเท่าตัว อาร์เซ็ปจะเป็นปัจจัยที่ดึงดูดนักลงทุนให้เข้าสู่ “ตลาดรวม” นอกเหนือจากความน่าสนใจของตลาดอาเซียนที่กำลังมาแรง
“อาร์เซ็ปยังสอดรับยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนาน (Dual Circulation) ยุทธศาสตร์ใหม่ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน ที่ตั้งเป้าขยายเศรษฐกิจจีนให้เติบโตอีกเท่าตัวภายในปี 2578 โดยการสร้างตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ขึ้นภายในจีน ในขณะเดียวกันก็เปิดรับการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น”
และหลังจากที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจต้องมองหาที่จะปรับเปลี่ยนเส้นทางซัพพลายเชน และตลาดใหม่ในการขายสินค้า จากการสำรวจความคิดเห็นของลูกค้าธนาคารยูโอบีจำนวน 300 รายทั่วเอเชีย การปรับกลยุทธ์ด้านซัพพลายเชนจะต้องใช้เวลา 1-3 ปี หรือมากกว่านั้น สิทธิพิเศษด้านการค้าที่จะมาพร้อมกับอาร์เซ็ปจะเข้ามาช่วยธุรกิจปรับตัวรับมือกับซัพพลายเชนที่ขาดตอน และเพิ่มเม็ดเงินลงทุนให้ไหลเข้ามาในอาเซียนมากขึ้น
ในช่วงแรกที่เกิดการระบาดของโควิด-19 การซื้อของอุปโภคบริโภคอย่างตื่นตระหนก และความล่าช้าในการจัดส่งเนื่องจากการระบาดใหญ่ ทำให้ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักในหลายประเทศ ภาพ: Shutterstock
ประเทศไทยเองจะได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากอาร์เซ็ปเช่นกัน แต่อย่างไรก็ดี ก็ยังสามารถพัฒนาขีดความสามารถในแข่งขันเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องนโยบายด้านการส่งออก สัดส่วนของผู้ถือหุ้นต่างชาติในธุรกิจ มาตรฐานการดูแลแรงงาน รวมถึงนโยบายด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์สวมหมวกอาเซียน หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 29 มกราคม 2564
ห้ามมิให้บุคคลใดๆ คัดลอกหรืออ้างอิงถึงบทความนี้ ไม่ว่าจะด้วยวัตถุประสงค์ใดก็ตาม บทความนี้จัดทำขึ้นเพื่อให้ข้อมูลทั่วไปเท่านั้น ข้อมูลที่มีอยู่ในบทความนี้เป็นไปตามสมมติฐาน ข้อมูล และเงื่อนไขที่มีอยู่ ณ วันที่ที่ระบุในบทความ และอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า คุณควรปรึกษาที่ปรึกษามืออาชีพของคุณเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ที่กล่าวถึงในบทความนี้ เนื้อหาในบทความนี้ไม่ถือว่าเป็นคำแนะนำด้านบัญชี กฎหมายข้อบังคับ ภาษี หรือคำแนะนำอื่นใด บทความนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นข้อเสนอ ข้อชี้แนะ การชักชวน หรือคำแนะนำ ในการซื้อหรือขายผลิตภัณฑ์การลงทุน หลักทรัพย์ หรือตราสารใดๆ บทความนี้ได้รับการตรวจทานเรื่องความถูกต้องและเป็นกลางของข้อมูลอย่างละเอียด อย่างไรก็ดี ธนาคารยูโอบีและพนักงานไม่รับรองหรือรับประกัน ไม่ว่าโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยาย เกี่ยวกับความถูกต้องครบถ้วนและเที่ยงธรรม และไม่รับผิดชอบหรือรับผิดใดๆ ต่อข้อผิดพลาด ความไม่ถูกต้อง การละเว้นข้อมูล หรือความสูญเสียหรือความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นแก่บุคคลใดๆ ก็ตาม อันเนื่องมาจากการเชื่อถือในมุมมองและข้อมูลในบทความนี้
แอนดี้ เฉี่ย ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจ Wholesale Banking ของธนาคารยูโอบีประเทศไทย ปัจจุบันเขาดูแลรับผิดชอบหน่วยงาน Corporate Banking, Commercial Banking, Financial Institutions, Transaction Banking, Corporate Finance และ Debt Capital Markets ระหว่างปี 2013 ถึงต้นปี 2018 แอนดี้ดูแลและบริหารการดำเนินงานในยุโรปของธนาคารยูโอบี ณ กรุงลอนดอน ในบทบาทนี้ แอนดี้ได้ทำงานร่วมกับ บริษัท และสถาบันในยุโรป เพื่อให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์และการดำเนินงานในเอเชียรวมทั้งช่วยเหลือบริษัทในเอเชียที่ต้องการขยายธุรกิจไปยังยุโรป